ประวัติด่านศุลกากรเชียงของ

ประวัติความเป็นมา

(ขอขอบคุณเอกสารจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

นับตั้งแต่ได้รวมการภาษีขาเข้ากับการภาษีขาออกไว้ด้วยกันและตั้งกรมศุลกากรขึ้นมาตั้งแต่ปีวอกฉอศก จุลศักราช ๑๒๔๖ (พุทธศักราช ๒๔๒๗) การเก็บภาษีอากรแก่ของเข้า-ออกราชอาณาจักรนั้นใช้บังคับเฉพาะที่กรุงเทพฯก่อน ส่วนการศุลกากรหัวเมืองจะใช้วิธีให้เจ้าภาษีนายอากรที่เป็นเอกชนประมูลและผูกขาดการจัดเก็บซึ่งการเก็บภาษีแบบนี้ทำให้เกิดการขูดรีดจากเจ้าภาษีนายอากรบางราย เพราะเมื่อได้ประมูลผูกขาดจากรัฐแล้วย่อมจะต้องพยายามเก็บภาษีเอามาเป็นผลประโยชน์ของตนให้ได้มากที่สุด ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดเก็บเอง โดยให้กรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้จัดเก็บโดยมีสถานที่จัดเก็บภาษีเรียกว่า "ด่านภาษี" (อนุมานราชธน - ยง เสฐียรโกเศศ, พระยา."ตำนานศุลกากร" พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๘๒. หน้า ๑๐๖ - ๑๑๖) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" (ภายหลัง"กรมสรรพากรนอก"ได้มารวมกับ"กรมสรรพากรใน" ตั้งเป็น "กรมสรรพากร" สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๒ วันที่ ๕ กันยายน ๒๔๕๘ หน้า ๑๙๑ - ๑๙๒) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" ต่อมากรมศุลกากรจึงขยายขอบเขตอำนาจการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้า-ขาออก ไปที่หัวเมืองด้วย โดยเริ่มตั้งด่านศุลกากรตามหัวเมืองและโอนด่านภาษีของกรมสรรพากรมาเป็นด่านศุลกากร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นมา" (อนุมานราชธน - ยง เสฐียรโกเศศ, พระยา."ตำนานศุลกากร,พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๘๒. หน้า ๑๑๕ - ๑๑๗) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำ บุกเข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสติดกับศุลกสถาน เมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒ พ.ศ. ๒๔๓๖
(ขอขอบคุณท่านไพศาล ชื่นจิตร อดีตนักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ(๑๐) เอื้อเฟื้อหนังพิมพ์ฝรั่งเศส?L?ILLUSTRATION?ฉบับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๙๓)

ครั้ง "วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒" ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ที่กองทัพเรือฝรั่งเศสได้นำเรือรบ ๓ ลำบุกเข้ามาจอดทอดสมออยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสถานทูตฝรั่งเศส (ติดกับศุลกสถานที่บางรัก) และเอาปืนเรือข่มขู่ขึ้นตั้งเล็งจะยิงไปที่พระบรมมหาราชวัง จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บีบคั้นสยามอย่างหนักหลายประการในครั้งนั้น ทำให้พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงต้องยินยอมทำ "หนังสือสัญญากรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส แต่วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ ค.ศ. ๑๘๙๓ พ.ศ. ๒๔๓๖" (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย เล่ม ๑, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๔. หน้า ๘๓-๘๔) "คลิกเพื่อดูเอกสาร "
โดยในหนังสือสัญญาดังกล่าว มีข้อสำคัญระบุไว้ เช่น
ข้อ ๑ คอเวอนแมนต์สยามยอมสละเสียซึ่งข้ออ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วไปในดินแดน ณ ฝั่งซ้ายฟากตวันออกแม่น้ำโขง แลในบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้นด้วยฯ
..
ข้อ ๓ คอเวอนแมนต์สยามจะไม่ก่อสร้างด่าน ค่าย คู ฤาที่อยู่ของพลทหารในแขวงเมืองพระตะบอง แลเมืองนครเสียมราฐ แลในจังหวัด ๒๕ กิโลเมตร์ (๖๒๕ เส้น) บนฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขงฯ
..
ข้อ ๕ คอเวอนแมนต์สยามจะไม่เก็บภาษีสินค้าเข้าออกในจังหวัดที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ แล้วนั้น จนกว่าจะได้ตกลงกัน
จากข้อสัญญาดังกล่าวทำให้สยามต้องเสียดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมด และไม่มีสิทธิจะตั้งด่านหรือเก็บภาษีอากรขาเข้าขาออกที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เราได้ทำ "ข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากร ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เกี่ยวกับอินโดจีน" เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ โดยในข้อ ๑ ของข้อตกลงฯ ระบุว่าให้ยกเลิกข้อ ๕ แห่งสนธิสัญญา ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ และในข้อ ๗ ของข้อตกลงฯ ระบุให้ใช้ข้อตกลงนี้ได้เมื่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบเป็นหนังสือยินยอมพร้อมกัน (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๕ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๘๑ หน้า ๘๗๔-๘๘๑) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

หลังจากที่ได้ทำข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากรฯ กับฝรั่งเศสนั้นแล้ว สยามก็ได้เตรียมการเพื่อจะตั้งด่านศุลกากรทางบกขึ้น ณ ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งก่อนหน้านั้นกรมศุลกากรได้รับโอนการเก็บภาษีขาเข้า-ขาออกจากกรมสรรพากรโดยเริ่มทยอยโอนมาตั้งเป็นด่านศุลกากรตามหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นต้นมา (อนุมานราชธน - ยง เสฐียรโกเศศ, พระยา. ตำนานศุลกากร," พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช.พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๘๒. หน้า ๑๑๕ - ๑๑๖) ในครั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้ตรา "พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐" (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๕ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๑ หน้า ๕๔-๖๒) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" และ "พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐" (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๕ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๑ หน้า ๖๓-๗๕) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" อันเป็นการกำหนดพิธีการศุลกากรทางบกและทางอากาศยานขึ้นเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ และที่แก้ไขมาก่อนหน้านั้นที่มุ่งเน้นเฉพาะการศุลกากรทางทะเลเท่านั้น

จนกระทั่งในอีกราว ๑ ปีนับจากการทำข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากรฯ ทั้งสองฝ่ายก็ได้ให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวร่วมกันเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๙ พ.ศ. ๒๔๘๑ (ยังเป็น พ.ศ. ๒๔๘๑ ไม่ใช่ พ.ศ. ๒๔๘๒ เพราะในช่วงนั้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ประเทศไทยขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" โดยก่อนหน้านั้น ๑ สัปดาห์คือในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๘๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีหนังสือที่ ๔๔๓๔๖/๒๔๘๑ ตั้งให้นายอำเภอเชียงของเป็นพนักงานศุลกากร และให้เตรียมตั้งด่านศุลกากรขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ โดยให้นายอำเภอดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากร กับให้จัดทำป้ายชื่อด่านเขียนว่า "ด่านศุลกากรเชียงของ" เพื่อใช้ในวันเปิดด่านฯทันทีที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลัง ต่อจากนั้นกระทรวงการคลังได้มีโทรเลขถึงจังหวัดเชียงรายที่ ๔๕๔๕๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๘๑ ให้จังหวัดสั่งคณะกรมการอำเภอเชียงของทำพิธีเปิดด่านศุลกากรขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของในวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยจังหวัดเชียงรายได้สั่งการให้สรรพากรจังหวัดเชียงรายไปทำพิธีเปิดด่านศุลกากรเชียงของพร้อมด้วยคณะกรมการอำเภอเชียงของ พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ออก "กฎกระทรวงการคลัง (ฉะบับที่ ๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐" ลงวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ กำหนดที่สำหรับนำของเข้าและส่งของออก ตั้งด่านศุลกากรทางบกบริเวณชายแดนริมแม่น้ำโขงขึ้น ๖ ด่านพร้อมกันได้แก่ที่เชียงของ หนองคาย ชัยบุรี ท่าอุเทน นครพนม และมุกดาหาร (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๕ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ หน้า ๙๐๒-๙๐๓) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ด่านศุลกากรเชียงของจึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (เป็นปี ค.ศ. ๑๙๓๙ แล้ว) เป็นต้นมา "โดยในครั้งนั้นมีฐานะเป็นด่านฯ ฝากอำเภอ" คือให้นายอำเภอเชียงของทำหน้าที่นายด่านศุลกากรเชียงของ และกรมศุลกากรก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาประจำการช่วยปฏิบัติงาน มีสำนักงานอยู่ที่ห้องชั้นล่างซ้ายมือของที่ว่าการอำเภอเชียงของในขณะนั้น "กฎกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ที่เชียงของสามารถนำเข้าและส่งออกของได้ทุกประเภท แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดทางอนุมัติและด่านพรมแดนขึ้นแต่อย่างใด ในทางปฏิบัติการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออก จะใช้ท่าเรือที่เรียกว่า "ท่าวัดหลวง" หรืิอ "ท่าเรือศุลกากร" (ท่าเรือผาถ่านในปัจจุบัน)

ครั้นต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยจึงออก "กฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐ (ฉะบับที่ ๖)" ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ แก้ไขไม่ให้ส่งออกของประเภทที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวแก่การรบหรือเครื่องอุปกรณ์การรบไปยังประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๓ หน้า ๖๓๕-๖๔๔) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" จนกระทั่งได้ "ประกาศใช้อนุสัญญาสันติภาพและบันดาภาคผนวกระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส" เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔ หน้า ๘๕๗-๘๘๘) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" แล้วจึงได้ออก "กฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉะบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐ (ฉะบับที่ ๑๐)" ลงวันที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ แก้ไขกลับมาให้ด่านศุลกากรเชียงของสามารถนำของเข้าและส่งของออกได้ทุกประเภทเช่นเดิม (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ หน้า ๑๘๐๙-๑๘๑๑) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ด่านศุลกากรเชียงของ เมื่อครั้งอยู่ที่ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ? ๒๕๐๔
(ขอขอบคุณ คุณวินัย ธาดาเดช เอื้อเฟื้อภาพ)

ด่านศุลกากรเชียงของ มีนายอำเภอเชียงของทำหน้าที่เป็นนายด่านรวม ๔ ท่าน คือ 

๑.นายผลิ ศรุตานนท์ นายด่านศุลกากรเชียงของท่านแรก, ๒.นายสุชาติ ส.วงศ์พันธ์, ๓.ร.ต.ต.สะอาด สุจริตจันทร์ และ ๔.นายทวี บำรุงพงษ์ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศุลกากรจึงแต่งตั้ง สิบโทประสิทธิ์ โรจนสุนทร เสมียนพนักงานชั้นจัตวาซึ่งประจำการอยู่ที่ด่านศุลกากรเชียงของและสอบเลื่อนเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นตรีได้ บรรจุเป็น "นายด่านศุลกากรเชียงของ" ถือเป็นการเริ่มต้นมีนายด่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่านแรกของด่านศุลกากรเชียงของ

จากนั้นกรมฯ ก็ได้จัดงบประมาณจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาทเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานด่านศุลกากรขึ้นที่บริเวณริมแม่น้ำโขงใต้วัดหลวงหน้าท่าเรือศุลกากร (ท่าด่าน) เลขที่ ๖๖ หมู่ที่ ๒ ต.เวียง สร้างเสร็จและย้ายมาจากอำเภอเชียงของเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ ต่อมาในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ กรมศุลกากรจึงมีประกาศที่ ๒/๒๕๑๐ กำหนดเขตให้เรือจอดเทียบท่าเพื่อขนของขึ้น-ลง ตามริมฝั่งแม่น้ำโขงระยะห่างจากท่าด่านไปทางทิศเหนือและใต้ข้างละ ๕๐๐ เมตร (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๕ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ หน้า ๕๑๙) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้เปิดจุดผ่านแดนด้านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับ ห้วยทราย สปป.ลาว ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๓ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๒ หน้า ๔๙๖-๔๙๗) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" เพื่อให้ประชาชนเดินทางเข้า-ออกไปมาหาสู่กับ สปป.ลาวได้ด้วยตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ (ภายหลังได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรด้านอำเภอเชียงของเป็นตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น.-๑๘.๐๐ น.ของทุกวัน "คลิกเพื่อดูเอกสาร") โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ไปตั้งที่ทำการอยู่ที่ท่าเรือบั๊ค บ้านหัวเวียง ต.เวียง อ.เชียงของ เหนือด่านศุลกากรเชียงของไปประมาณ ๑๕๐๐ เมตร กรมศุลกากรจึงขยายเขตจอดเรือของด่านศุลกากรเชียงของออกไปเป็นข้างละ ๑๕๐๐ เมตรทางทิศเหนือ-ใต้จากท่าด่านศุลกากร ตามประกาศกรมศุลกากรที่ ๘/๒๕๓๒ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๒ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่จนถึงท่าเรือบั๊คนั่นเอง (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๔๓ วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๒ หน้า ๒๐๘๑) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ภายหลังจึงออก "กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐๐ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐"กำหนดด่านพรมแดนของด่านศุลกากรเชียงของขึ้น คือ "ด่านพรมแดนเชียงของ" ที่ท่าเรือบั๊ค?และกำหนดทางอนุมัติถึงด่านศุลกากรเชียงของเพื่ออำนวยความสะดวกและควบคุมการขนส่งของระหว่างด่านพรมแดนกับด่านศุลกากร" (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๔ ก วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๗ หน้า (๖-๗) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

อาคารด่านศุลกากรเชียงของ ริมแม่น้ำโขงใต้วัดหลวง ต.เวียง อ.เชียงของ (พ.ศ. ๒๕๐๔ ? ๒๕๕๘)
อาคารด่านศุลกากรเชียงของ เมื่อ ๓ กันยายน ๒๕๐๙ ครั้งอุทกภัยแม่น้ำโขงท่วมสูง
(ขอขอบคุณครูบัวเขียว ประทุมวรรณ์ เอื้อเฟื้อภาพ)

การนำเข้าส่งออกที่ด่านศุลกากรเชียงของนั้น มีทั้งการค้าขายระหว่างไทยกับ สปป.ลาวที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ รวมไปถึงแขวงหลวงน้ำทาและแขวงอุดมไชยซึ่งอยู่ลึกเข้าไปทางบก กับยังมีการค้าทางเรือที่ขึ้น-ล่องลำน้ำโขงจากเชียงของถึงแขวงหลวงพระบางซึ่งระหว่างทางต้องผ่านแขวงอุดมไซยและแขวงไซยะบุลี ของ สปป.ลาวด้วย อีกทั้งเริ่มมีการค้าขายกับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยขนส่งสินค้าด้วยเส้นทาง R3A ผ่าน สปป.ลาวที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ต่อถึงห้วยทรายและข้ามแม่น้ำโขงสู่เชียงของด้วยเรือหรือแพ อันเป็นผลจากความร่วมมือของ ๖ ประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ทั้งนี้ยังได้วางแผนจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ-ห้วยทรายไว้ในอนาคตด้วย กระทรวงการคลังจึงออก "กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐๑ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙" เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ เพิ่มเติมลักษณะการนำเข้าส่งออกของทุกประเภทของด่านศุลกากรเชียงของ ให้สามารถส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บนได้อีกด้วย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๔ ก วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๗ หน้า ๘-๙) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ออก "ประกาศกรมศุลกากร (ฉบับที่ ๔๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐" กำหนดทางอนุมัติของด่านศุลกากรเชียงของเป็น ๒ เส้นทาง คือจากเดิมที่เป็นทางถนนจากด่านพรมแดนเชียงของ (ท่าเรือบั๊ค) ถึงด่านศุลกากรเชียงของ?โดยเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ เส้นทางคือ ทางถนนจากท่าศุลกากรริมแม่น้ำโขงถึงด่านฯ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๓๗ ง วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ หน้า ๖) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ต่อมาการค้าขายกับ สปป.ลาว ด้านเมืองคอบ แขวงไซยะบุลี ผ่านช่องทางบ้านฮวก กิ่งอำเภอภูซาง จ.พะเยา? (ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอภูซางเมื่อ ๘ กันยายน ๒๕๕๐ "คลิกเพื่อดูเอกสาร") เริ่มมีการขออนุมัติขนส่งของนอกทางอนุมัติเพิ่มมากขึ้น กรมศุลกากรจึงมีประกาศฯ ที่ ๘๐/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ตั้ง "ด่านตรวจบ้านฮวก" ขึ้น

ส่วนทางด้านอำเภอเชียงของก็มีการสร้างท่าเรือเชียงของ ที่บ้านหัวเวียง ต.เวียง อ.เชียงของ ซึ่งอยู่ภายในเขตจอดเรือของด่านฯ โดยสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๖ และเปิดให้บริการเมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ "คลิกเพื่อดูเว็บไซต์" กรมศุลกากรจึงออกประกาศกรมฯ ที่ ๑๖/๒๕๔๗ เรื่อง การเปิดทำเนียบท่าเรือเชียงของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยอนุมัติเขตทำเนียบท่าเรือเชียงของสำหรับบรรทุกของลงหรือขนของขึ้นและเป็นที่สำหรับตรวจสินค้าที่ยังมิได้ตรวจปล่อย























นอกจากนั้นที่อำเภอเชียงของก็ได้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๔ (เชียงของ-ห้วยทราย) ข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อเส้นทาง R3A (กรุงเทพ-คุนหมิง) ขึ้น และเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ จึงมีพิธีเปิดให้บุคคลเดินทางเข้า-ออกระหว่างไทยกับ สปป.ลาวที่สะพานมิตรภาพฯ ๔ ได้อย่างเป็นทางการในช่วงเวลา ๐๖.๐๐ น. - ๒๒.๐๐ น.ของทุกวัน โดยมี "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ ๔ (เชียงของ - ห้วยทราย) บ้านดอนมหาวัน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย" ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันนั้นเอง (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอนพิเศษ ๑๘๒ ง วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ หน้า ๕๖) "คลิกเพื่อดูเอกสารแต่การนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๔ ในตอนแรกนั้นจะกระทำได้โดยต้องขอขนส่งนอกทางอนุมัติปกติเป็นการเฉพาะคราวไปก่อน หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจึงออก "กฎกระทรวง กำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘" ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ แก้ไขด่านพรมแดนและทางอนุมัติของด่านศุลกากรเชียงของ โดยกำหนดด่านพรมแดนพร้อมทางอนุมัติ เพิ่มเป็น ๔ แห่ง คือ ๑. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๑ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือบั๊ค? ๒. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๒ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือเชียงของ ๓. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๓ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือผาถ่าน และ ๔. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๔ ตั้งอยู่ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๔ เชียงของ - ห้วยทราย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๕๖ ก วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ หน้า ๘-๑๔) "คลิกเพื่อดูเอกสารเพื่อให้การนำเข้า-ส่งออกของหรือสินค้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรนั่นเอง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๔ (เชียงของ-ห้วยทราย)
ร่วมกับนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. ของวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (ค.ศ. ๒๐๑๓)

หลังจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๔ (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งอยู่ห่างจากด่านศุลกากรเชียงของประมาณ ๑๒ กิโลเมตร และการขนส่งสินค้าเข้าออกผ่านทางสะพานก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยตลอด กรมศุลกากรจึงตั้งงบประมาณปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓๗๕,๓๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อก่อสร้างด่านศุลกากรเชียงของแห่งใหม่พร้อมสิ่งปลูกสร้างประกอบขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่จำนวน ๒๕ ไร่จากกรมทางหลวง ณ เลขที่ ๗๘ หมู่ ๙ ต.เวียง อ.เชียงของ ริมทางหลวงหมายเลข ๑๓๕๖ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๔ ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร สร้างเสร็จและมีพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘

อาคารสำนักงานด่านศุลกากรเชียงของปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘ หมู่ ๙ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ๕๗๑๔๐


ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายศุลกากร โดยได้ตรา "พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐" ขึ้นใหม่แทน พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕๓ ก วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ หน้า ๒๖-๗๙) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" กระทรวงการคลังจึงได้ออก "กฎกระทรวง กำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. ๒๕๖๐" โดยในลำดับที่ ๗ กำหนดให้ด่านศุลกากรเชียงของมีด่านพรมแดน ๔ แห่งเช่นเดิม (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๑๑๘ ก วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ หน้า ๑-๓๐) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" จากนั้นจึงได้ออก "ประกาศกรมศุลกากรที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่องกำหนดเวลาขนส่งของเข้า - ออก ผ่านเขตแดนทางบกตามทางอนุมัติ" โดยในลำดับที่ ๓ กำหนดให้ด่านศุลกากรเชียงของมีทางอนุมัติ ๔ ทางและสามารถขนส่งของที่จะนำเข้าส่งออกได้ในเวลา ๐๖.๐๐ น. - ๑๘.๐๐ น. ยกเว้นทางอนุมัติของด่านพรมแดนที่สะพานมิตรภาพฯ ๔ ขนส่งได้ในเวลา ๐๖.๐๐ น. - ๒๒.๐๐ น. (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๗๘ ง วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑ หน้า ๒๕-๓๗) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

ต่อมาการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่บ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านปางมอน เมืองคอบ แขวงไซยะบุลี สปป.ลาว ทวีมูลค่าเพิ่มขึ้น ประกอบกับมี "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา" ลงวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๒๕๓ ง วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ หน้า ๑๘) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" ให้บุคคลเดินทางเข้า-ออกไทยกับ สปป.ลาวได้ จากนั้นวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ กระทรวงการคลังจึงออก "กฎกระทรวง กำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒" โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้ด่านพรมแดนของด่านศุลกากรเชียงของมี ๕ แห่ง คือ ๑. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๑ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือบั๊ค, ๒. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๒ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือเชียงของ, ๓. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๓ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือผาถ่าน, ๔. ด่านพรมแดนเชียงของแห่งที่ ๔ ตั้งอยู่ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๔ เชียงของ - ห้วยทราย และ ๕. ด่านพรมแดนบ้านฮวก ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๘๕ ก วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ หน้า ๔-๖) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" และออก "ประกาศกรมศุลกากรที่ ๒๗๘/๒๕๖๒ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากรที่ ๒๑/๒๕๖๑" ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ กำหนดทางอนุมัติจากด่านพรมแดนบ้านฮวกถึงด่านศุลกากรเชียงของ เพิ่มขึ้นอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นทางอนุมัติของด่านฯ เชียงของเส้นที่ ๕ เพื่อการขนส่งสินค้าเข้า-ออกตามกฎหมายศุลกากรในช่างเวลา ๐๖.๐๐ น. - ๑๘.๐๐ น.?เพื่อให้สอดคล้องกับด่านพรมแดนของด่านศุลกากรเชียงของนั่นเอง (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๓๕ ง วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ หน้า ๔-๕) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"


ปัจจุบัน ด่านศุลกากรเชียงของ คือ ส่วนราชการหนึ่งของกรมศุลกากร ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ ๓ ตาม "กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๖๒" ซึ่งกำหนดไว้ว่า

"ข้อ ๓ ให้แบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร ดังต่อไปนี้..." และ "(๑๑) ด่านศุลกากร ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"

"ข้อ ๑๗ ด่านศุลกากร มีหน้าที่และอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร การจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นสำหรับ สินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาใน หรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร การคืนอากรที่มิใช่กรณีตามมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ รวมทั้งการควบคุมและตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (๒) ดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (๓) สืบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเกี่ยวกับการทบทวนเอกสารต่าง ๆ หลังผ่านพิธีการศุลกากร (๔) ดำเนินการเกี่ยวกับคดีทางศุลกากร ของกลาง และของตกค้างที่อยู่ในความรับผิดชอบ (๕) วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกซึ่งสินค้าและของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือ นำออกไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งจัดทำการประเมินผล พัฒนา และปรับปรุงฐานข้อมูลด้านศุลกากร เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง (๖) ประสานงาน ให้ความร่วมมือ และให้คำปรึกษาแนะนำในการอำนวยความสะดวก ด้านการค้าชายแดน (๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย"

"ข้อ ๒๖-๒๙ สำนักงานศุลกากรภาคที่ ๑-๔ มีหน้าที่และอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าและของที่นำเข้าและส่งออก ควบคุมและกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออก สินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และของที่นำเข้าและส่งออก รวมทั้งควบคุมและกำกับดูแลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (๒) กำกับดูแลการปฏิบัติงานของด่านศุลกากรให้เป็นไปตามนโยบาย แผนงาน และเป้าหมายที่กรมกำหนดไว้ (๓) ให้คำปรึกษาแนะนำ และสนับสนุนทางวิชาการแก่ด่านศุลกากร เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ของกรม (๔) ให้การสนับสนุนแก่ด่านศุลกากรในการดำเนินงานด้านการจัดเก็บภาษีอากร สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร การตรวจสอบ และป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (๕) สืบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเกี่ยวกับการทบทวนเอกสารต่าง ๆ หลังผ่านพิธีการศุลกากร รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับคดีทางศุลกากร ของกลาง และของตกค้างที่อยู่ในความรับผิดชอบ (๖) ตรวจสอบบันทึก บัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออก ณ ที่ทำการของผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามการฉ้อฉลทางการค้าภายในขอบเขตหน้าที่และอำนาจ (๗) วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกซึ่งสินค้าและของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งจัดทำการประเมินผล พัฒนา และปรับปรุงฐานข้อมูลด้านศุลกากร เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง (๘) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย"

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๗ ก. วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หน้า ๑๐๙ - ๑๒๓) "คลิกเพื่อดูเอกสาร"

จากนั้น "ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดและแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.๒๕๖๒" ข้อ ๑ (๑๑) จึงกำหนดให้ "ด่านศุลกากรเชียงของ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น และอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย อำเภอเชียงคำ และอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา", และ ข้อ ๙ (๓) ก็กำหนดให้สำนักงานศุลกากรภาคที่ ๓ มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ของด่านศุลกากรเชียงของด้วย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๒๕ ง. วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หน้า ๕ ? ๑๐) "คลิกเพื่อดูเอกสาร" โดยปัจจุบัน ด่านศุลกากรส่วนภูมิภาคที่เป็นส่วนราชการของกรมศุลกากร มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔๘ ด่าน

(นายวุฒิพงศ์ ท้าวฬา-รวบรวม/เรียบเรียง ๒๔ ก.ย. ๒๕๖๓)


 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 1 พฤศจิกายน 2564 10:52:12
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ด่านศุลกากรเชียงของ
เลขที่ 78 หมู่ 9 ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย 57140
หมายเลขโทรศัพท์ : 053-160397-8
อีเมล์ : 74150000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของด่านศุลกากรเชียงของ - สำนักงานศุลกากรภาคที่ 3
ลิขสิทธิ์ 2020 ด่านศุลกากรเชียงของ สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและคลังข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ